เรียนรู้การ "ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์" กันดีกว่า
พอดีทางเราได้ข่าวเกี่ยวกับคอร์สนี้ในกรุ๊ปไลน์กลุ่มหนึ่ง และพบว่าหัวข้อน่าสนใจดี เลยลงเรียนแล้วเอาไปแชร์จ้า
คอร์สนี้มีชื่อว่า ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์ (Awaken Your Creative Power) ซึ่งเปิดเป็นรุ่นที่ 2 แล้ว สอนโดยอาจารย์ ธงชัย โรจน์กังสดาล เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เคยอ่าน medium ของอาจารย์ด้วยหล่ะ
โดยในวิชานี้จะมี 8 บทเรียน และมีการสอบด้วยหล่ะ
สามารถดูรายละเอียดคอร์สเพิ่มเติมได้ที่นี่
https://mooc.chula.ac.th/courses/21
และมีกลุ่ม Facebook สำหรับคอร์สนี้ด้วยนะ ในนั้นจะมี content จากอาจารย์ผู้สอนด้วยนะ https://www.facebook.com/groups/1605301289633591/
ตัวคอร์สให้เราเริ่มเรียนวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน และเราเรียนจบจนในวันถัดมา จึงมาสรุปเป็นบล็อกนี้จ้า
มาเริ่มเรียนกันเลยดีกว่าาาาา~~~
บทที่ 1 โลกมหัศจรรย์ของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม
ความสำคัญของเรื่องความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์ในตัวเราออกมา
ความคิดสร้างสรรค์เป็นทักษะสำคัญของยุคศตวรรษที่ 21 แล้วนะ โดยเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัณสำหรับคนทำงานและนักศึกษา และต้องพัฒนาให้เกิดขึ้น
ตัวอย่างนวัตกรรมที่น่าสนใจ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), โปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ
ความคิดสร้างสรรค์นั้น จะต้องมีคุณค่าและสร้างประโยชน์ให้กับผู้คน และทำให้เกิดนวัตกรรม
ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ที่พบกันได้บ่อย
- ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องพรสวรรค์ จริงๆแล้วเป็น skill ที่สามารถพัฒนาขึ้นมาได้
- ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องของคนบางอาชีพเท่านั้น เช่น ศิลปิน คนทำงานในแวดวงศิลปะ จริงๆแล้วสายวิทยาศาสตร์ สายคำนวณ ก็สามารถมีได้เช่นกัน
- ความคิดสร้างสรรค์จะต้องเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นจริงในบางเรื่อง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นของที่มีอยู่แล้วไม่ได้ ในคอร์สนี้ก็จะมีตัวอย่างที่นำสิ่งเดิมมาผสมผสานเข้าด้วยกัน
นวัตกรรมหรือมีเทคโนโลยีอะไรบ้างที่น่าสนใจในยุคนี้?
- 3D Printing ทำให้เราสามารถประดิษฐ์ชิ้นงานได้ด้วยตัวเอง
- เครื่องอ่าน ebook บรรจุหนังสือเป็นพันเล่มในเครื่องเดียว นํ้าหนักเบา ไม่กินไฟ ถนอมสายตา
- โดรน เอาไปถ่ายมุมสูงเพื่อประกอบภาพข่าวและงานอื่นๆ แล้วก็ช่วยในวงการการเกษตรด้วยหล่ะ รวมถึงการแข่งขันกีฬาด้วย ที่น้องมิลด์ไปแข่งแล้วได้แชมป์โลกมาอ่ะ
- หุ่นยนต์ อันนี้จะไปทาง AI
- QR Code สามารถเอาไปชำระเงินต่างๆแบบ cashless เนอะ
บทที่ 2 นักสร้างสรรค์ผลงาน
ตัวอย่างนวัตกร (ผู้สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมต่างๆ) พร้อมผลงานของเขา
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงมีผลงานต่างๆ มากมาย เช่น โครงการฝนหลวง, โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา และจากโครงการนี้ ทำให้รัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันนักประดิษฐ์ของไทย
- สตีฟ จอบส์ CEO บริษัท แอปเปิล ที่หลายๆคนตั้งเป็นศาสดาเนอะ ที่เราจำได้หลักๆที่ไปเรียนมาเนี่ย ก็คือ iPhone นั่นเอง
- เจ. เค. โรว์ลิง นักเขียนชาวอังกฤษที่โด่งดังจากหนังสือดแฮร์รี่พอตเตอร์
- แจ๊ก หม่า นักธุรกิจชาวจีน ผู้ก่อตั้ง Alibaba
- สตีเวน สปีลเบิร์ก ผู้กำกับชื่อดัง
คุณสมบัติของนวัตกรที่โดดเด่น
มาจากหนังสือ The Innovators DNA นั่นเอง มี 5 ข้อด้วยกัน คือ
- การตั้งคำถาม
- การสังเกต
- การเชื่อมโยง
- การทดลอง
- ปฏิสัมพันธ์
บทที่ 3 การจดบันทึก
คุณสมบัติข้อแรกในการเป็นนวัตกรเนอะ
ความสำคัญในการจดบันทึกคืออะไรกันนะ?
- เลโอนาร์โด ดา วินชี ผลงานดังที่เรารู้จักกันดีก็คือ ภาพวาดโมนาลิซ่า ภาพวาด The Last Supper และอื่นๆ เขาเป็นคนที่มีสมุดบันทึกพกติดตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อเอาไว้จดไอเดีย หรือเรื่องที่เขาสนใจในสมุดเล่มนั้น
- ทอมัส อัลวา เอดิสัน นักประดิษฐ์ชื่อดังของโลก เป็นคนที่จดสิทธิบัตรหลอดไฟ และนำออกขายในเชิงพาณิชย์ เขาได้จดบันทึกข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับผลงานที่เขาได้คิดค้น
- ชาลส์ ดาร์วิน ผู้ที่เสนอทฤษฎีวิวัฒนาการ จดบันทึกสิ่งที่ค้นพบหรือข้อสังเกต ตอนที่เดินทางสำรวจในที่ต่างๆ ทำให้เขาเกิดแนวความคิดและก็เสนอทฤษฎีวิวัฒนาการขึ้นมานั่นเอง
ประโยชน์ของการจดบันทึกคืออะไร?
- ป้องกันการลืม เอาไว้จดไอเดียใหม่ๆที่เรานึกขึ้นได้แบบแว่บๆขึ้นมา ถ้าไม่รีบจดเราก็จะนึกไม่ออกแล้วหล่ะ
- จดบันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้ต่างๆ หรือประโยคที่เราชอบ
- ฝึกทักษะการเขียน เพื่อพัฒนาตัวเองสู่การเป็นนักเขียนได้
- เอาสิ่งที่เราจดไว้ไปถ่ายทอดให้คนอื่นๆต่อได้
กิจกรรมประจำบทนี้ก็คือ หาสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ ให้เราพกพาได้สะดวก พร้อมกินสอปากกา เอาไว้จดบันทึก อาจจะในวิชานี้ หรือชีวิตประจำวันของเราก็ได้นะ
ข้อดีของการใช้สมุดกระดาษก็คือ คิดอะไรหรือจดอะไรสามารถเขียนลงไปได้เลย ไม่ต้องเรียนรู้เพิ่มในการจดบันทึก ราคาถูก และการเขียนด้วยมือจะเป็นการกระตุ้นความคิดและไอเดียได้ดีกว่า เหมาะกับผู้เริ่มต้น
แต่ข้อจำกัดก็มีนะ คือถ้าสมุดเล่มนี้หายหมด ไอเดียหรือสิ่งที่เราจดมาก็หายไปด้วย จึงอาจจะใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆเข้ามาช่วย ข้อดีที่เพิ่มขึ้นมาก็คือ สามารถอัดเสียง ถ่านรูป ถ่ายวิดีโอ แนบกับโน้ตที่เราจดไว้ได้ และก็ backup เก็บไว้ใน cloud ได้ด้วย
แล้วสมุดเล่มนี้ใช้เขียนอะไรบ้างนะ? อาจจะใช้จดสรุปวิชาที่เราเรียน จด to-do list ในแต่ละวัน จดประโยคที่เราชอบ ข่าวที่น่าสนใจ ปัญหาที่พบเจอและอยากแก้
ตัวอย่างจากเราเอง สมุดโน๊ต คัลเลอร์โทน อี-ไฟล์ ของซากุระ ราคา 60 บาท คุ้มมากๆ เล่มเล็ก จดได้เยอะเลย
https://www.sakura.in.th/th/product-detail.php?id=1448&bid=7&gid=1-111-002&pn=1
ก่อนหน้านี้ถ้าเราไปงาน meetup หรือ conference ต่างๆ เราก็จะใช้อีกเล่มไม่ให้ปนกันกับเรื่องงาน
ส่วนโปรแกรม เดิมทีจะใช้ Note ใน macbook กับใน iPad, Google Keep กับทุกอุปกรณ์, trello ใช้ในการทำ content และเรียนออนไลน์, evernote ใช้จดบทเรียนต่างๆและแนบรูปลงไปด้วย เพื่อเอาไปทำบล็อกต่อ แต่ตอนนี้ใช้เหลือตัวเดียว ก็คือ Notion นั่นเอง หลักๆไว้วางแผนการเขียนบล็อก เรียนออนไลน์ จดสรุปต่างๆ อาจจะต้องใช้เวลาเรียนรู้การใช้งานนิดนึงเนอะ แน่นอนเราเลือกอันที่ใช้ฟรีอยู่แล้ว เดี๋ยวพวกนี้อาจจะแยกเป็นอีกบล็อกนึงแยกไปเลย
บทที่ 4 การตั้งคำถาม
คุณสมบัติข้อที่สองในการเป็นนวัตกร
ตัวอย่างคำพูดของนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่เรารู้จักกันดีก็คือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เขาเคยกล่าวไว้ว่า
ถ้าข้าพเจ้าจะต้องแก้ปัญหา หรือเอาตัวรอดจากสถานการณ์อย่างนึงภายในเวลา 60 นาที ข้าพเจ้าจะตั้งคำถาม 59 นาทีแล้วก็หาคำตอบ 1 นาที
เพราะเขาเชื่อว่า ถ้าเราตั้งคำถามถูกต้อง และตั้งคำถามได้มากพอแล้ว คำตอบมันจะมาเอง
เทคนิคการตั้งคำถามในบทนี้ก็คือ What If..? อะไรจะเกิดขึ้น เพื่อช่วยปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์ของเรา และช่วยกระตุ้นจินตนาการเป็นอย่างดี อย่างภาพยนตร์หลายๆเรื่องนั้น ก็ใช้เทคนิคนี้นี่แหละ เช่น
- อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเราย่อส่วนมนุษย์ได้ อย่าง Ant Man คือแค่ใส่ชุดเข้าไปเท่านั้นก็สามารถย่อส่วนมนุษย์ให้เล็กลงได้
- อะไรจะเกิดขึ้น ถ้ามีสัตว์ประหลาดขนาดยักษ์บุกโลก เราจะนึกถึงอุลตร้าแมน พวกไคจูต่างๆ Godzilla ก็จะมีพวกฮีโร่ต่างๆมาสู้ (แล้วบ้านตึกก็พังกันไป เขาเคยคิดจะซ่อมบ้านไหมนั่น)
- อะไรจะเกิดขึ้น ถ้ามีมนุษย์อวกาศไปสํารวจดาวอังคาร และเกิดอุบัติเหตุแล้วก็ต้องติดอยู่บนดาวอังคารเพียงแค่คนเดียว เขาจะเอาชีวิตรอดได้อย่างไร ก็คือพล็อตเรื่องของ The Martian นั่นเอง
จริงๆในหนัง ภาพยนตร์ ซีรีส์ต่างๆนั้น เขาจะมีการตั้งคำถาม What If..? กันทั้งนั้น งั้นเราขอลองยกตัวอย่างจากซีรีส์ที่เราเคยดูแล้วกัน
- จะเกิดอะไรขึ้น ถ้ามีหญิงสาวต่างที่มา 5 คน มาเช่าบ้านเรา แล้วให้เงินล้านเยนทุกเดือนเป็นค่าเช่าบ้าน และมีกฏกติกาในการอยู่ร่วมกัน ห้ามถามเรื่องส่วนตัวคนมาเช่าบ้านเรา เป็นพล็อตของซีรีส์ญี่ปุ่น Million Yen Women นั่นเอง
- จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อเราอยู่ดีๆหลงไปอยู่เกาหลีเหนือ แล้วจะกลับเกาหลีใต้ยังไงดีอ่ะเนี่ย และคนเกาหลีเหนือจะมาเกาหลีใต้ยังไง มาได้ไหม เป็นพล็อตของเรื่องสหายผู้กอง Crash Landing on You นั่นเอง
- จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหญิงสาวคนหนึ่งเกลียดหนังโรแมนติกคอมเมดี้มาก แต่ดั๊นนนนไปติดอยู่ในโลกนั้นซะงั้น เป็นพล็อตเรื่องของหนังที่ชื่อว่า Isn't It Romantic
- สุดท้ายหล่ะ มียากูซ่า 3 คนที่ทำงานพลาด แต่เจ้านายนั้นสนใจธุรกิจไอดอล เลยจับ 3 คนนั้นมาแปลงเพศซะเลย แล้วเขาจะใช้ชีวิตอย่างไรต่อหล่ะ เป็นพล็อตของการ์ตูนที่ชื่อว่า Back Street Girls -GOKUDOLS-
ต่อมาเราฝึกการตั้งคำถาม What If..? กัน เราลองตั้งคำถามแบบนี้กับอะไรก็ได้ เช่น อะไรจะเกิดขึ้นถ้าขวดนํ้ามี 2 ฝา, อะไรจะเปิดขึ้นถ้าขวดนํ้าสามารถเปลี่ยนสีตามอุณหภูมิของน้ำได้,อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าปากกาสามารถที่จะเขียนได้ทุกสีตามที่เราต้องการ, อะไรจะเกิดขึ้นถ้าปากกาไม่ต้องมีฝากด ลองตั้งคำถามใส่สมุดของเรากันเนอะ ยิ่งเขียนเยอะยิ่งดีเนอะ
จากนั้นให้ตั้งคำถามแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น ตั้งคำถามเกี่ยวกับหน่วยงานหรืองานของตัวเอง อาจจะเป็นปัญหาบ้านเมืองก็ได้เนอะ ตัวอย่างที่คิดและเอามาเผยแพร่ได้
- จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าบริษัทเรามีกิจกรรม Hackathon
แต่มองแล้วบางอันก็ไม่เหมาะ มันจะแนวว่า ทำอย่างไรให้คนรอรถเมล์ไม่ต้องรอนาน แต่ก็ไม่มีใครทำอะไรที่ตอบโจทย์ตรงนี้เสียที
จริงๆทำให้เรานึกถึงหนึงสือเล่มนึง ที่เคยอ่านตอนต้นไปนิดเดียวตอนยังไม่แปลไทย คือ Start With Why นั่นเอง
บทที่ 5 การสังเกต
คุณสมบัติข้อที่สามในการเป็นนวัตกร และการสังเกตมีประโยชน์อย่างไรกันนะ?
การสังเกตคือ เป็นการเฝ้าดู การตั้งใจหรือการเอาใจใส่ โดยทั่วไปเราจะกล่าวถึงการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ให้ครบถ้วน ก็คือ รูป(ตา) รส(ปาก) กลิ่น(จมูก) เสียง(หู) สัมผัส
ประโยชน์ของการสังเกตคืออะไรกันหล่ะ?
- เก็บข้อมูล
- เราเข้าใจปัญหานั้นๆได้มากขึ้น ว่าเกิดมาจากอะไร
- สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดได้มากขึ้น เพราะเราเห็นคำตอบและไอเดียในการแก้ไขได้
- การหาไอเดียใหม่ ในการคิดสิ่งแปลกใหม่ขึ้นมาได้
- การพัฒนาความจำ ซึ่งเป็นเรื่องของการฝึกฝน ทำให้เรามีความจำที่ดีขึ้นได้
แบบฝึกหัดการสังเกต
ให้ลองวาดรูปของที่พกติดตัวเรา เช่น โทรศัพท์มือถือ นาฬิกาข้อมือ โดยไม่ต้องหยิบขึ้นมาดู และวาดให้เหมือนที่สุด จากนั้นลองหยิบมาเปรียบเทียบดูว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด
การสังเกตในชีวิตประจำวัน
- โลโก้หรือสัญลักษณ์ต่างๆของแต่ละหน่วยงาน product ต่างๆ หรือ ไอคอนของแอพพลิเคชันต่างๆ อันนี้ส่วนตัวเรามองว่าแต่ละที่มี brand color index อยู่แล้วเนอะ เช่น สีประจำมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ คือ สีชมพู หรือ product ที่เราทำก็คือ Beeber จะเป็นสีส้มๆเนอะ
- การแต่งกายหรือเครื่องแต่งกาย แต่ละอาชีพแต่งตัวแตกต่างกัน และในความเห็นของเรานั้น อาชีพเดียวกันนั้น ก็สามารถแต่งตัวต่างกันได้ เช่น programmer/developer ในบริษัทแบบเป็นทางการ ก็จะแต่งตัวเป็นทางการหน่อย แบบใส่เสื้อเชิ้ต ถ้าเป็น start-up ก็สามารถใส่เสื้อยืดไปทำงานได้
- หน้าปกหนังสือ เรามองว่าแล้วแต่คาเรทเตอร์ของหนังสือ แล้วหนังสือเล่มเดียวกัน ปกยังไม่เหมือนกันเลย แหะๆ และแต่ละ genre ก็มีการออกแบบที่แตกต่างกันออกไปด้วย เช่น หนังสือเด็กก็จะสีสดใสๆ หนังสือแบบนิยายสยองขวัญเน้นแบบพื้นดำ
- โปสเตอร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์ภาพยนตร์ โปสเตอร์โฆษณา โปสเตอร์สินค้า
- ถ้าใกล้ตัวอาจจะดู ท้องฟ้า ต้นไม้ ดอกไม้ ซึ่งนักปราชญ์ตั้งแต่ยุคโบราณก็ได้สังเกตธรรมชาติรอบตัวต่างๆ หรือนักวิทยาศาสตร์ก็สังเกตธรรมชาติรอบตัว แล้วก็ตั้งมาเป็นกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ นั่นเอง
- เกมส์ต่างๆ เช่น จิ๊กซอว์
- ภาพวาด ไม่ว่าจะเป็นวาดภาพเหมือนและอื่นๆ รวมถึงการถ่ายรูปด้วย
- รวมถึงการออกไปท่องเที่ยวสถานที่ใหม่ๆ ทำให้เราช่างสังเกตมากขึ้นด้วย
ผลที่ได้จากการที่เราเป็นคนช่างสังเกต
- นำสิ่งที่เราชอบในโปสเตอร์ที่เราสนใจ ไปปรับใช้ในการทำสไลด์ได้ เรื่องการทำสไลด์นั้นเราจะนึกถึงอันนี้ตลอดเลยอ่ะ
- วิเคราะห์จุดเด่นของธุรกิจและการบริการต่างๆ
- User Journey สังเกตลูกค้า ว่าเขามายังไง ใช้บริการของเรายังไง เขารู้สึกอย่างไร และนำสิ่งที่ลูกค้าพบเจอไปปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ อย่างเคส milkshake ในคอร์นี้ก็ได้เนอะ
บทที่ 6 การหาไอเดีย
คุณสมบัติข้อที่สี่ในการเป็นนวัตกร
เทคนิคการหาไอเดียที่ใช้ คือ SCAMPER
มาจากตัวย่อต่างๆดังนี้
- Substitute การทดแทน เช่น การนำวัสดุอื่นๆมาทดแทนของเดิม หรือการเปลี่ยนกระบวนการบางอย่าง เช่น การสร้างบ้าน จากสร้างแบบไม้ แบบคอนกรีต เป็นรูปแบบใหม่ เช่น SCG HEIM, การจ่ายเงินด้วย QR Code แบบสังคม cashless, Co-Working Space ทำให้ start-up ไม่ต้องเช่าออฟฟิคแพงๆ หรือสำหรับ freelance เองก็ได้เนอะ แบบไม่ต้องไปนั่งร้านกาแฟทำงาน
- Combine การผสมผสาน เช่น มีดพับสวิส ได้คิดขึ้นมาเพื่อให้ทหารนำไปใช้พกติดตัวในสมัยสงคราม หรือกระเป๋าเดินทางติดล้อ ทำให้เราไม่ต้องแบกของหนักๆ ลากไปได้เลย
- Adapt การปรับสิ่งอื่นมาใช้ เช่น การ subscription โปรแกรมต่างๆเป็นรายเดือน ง่ายๆก็น่าจะเป็น Netfilx เนอะ หรือ โอริงามิ การพับการดาษแบบญี่ปุ่น ก็นำไปใช้กับวงการอื่นๆมากขึ้น ที่เราจำได้ก็น่าจะโฆษณาเครื่องสำอางที่นำการพับกระดาษมาเป็นเทคนิคพิเศษในนั้นด้วย
- Modify การปรับปรุง เช่น รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์แบบไฮบริค เป็นการปรับปรุงให้รถปล่อยพลังงานเสียน้อยลง, smart watch ที่นอกจากดูเวลาแล้ว สามารถดูแลสุขภาพของเราได้ด้วย เช่น การเดิน การวิ่ง วัดอัตราเร็วของหัวใจ, 3D Printing สามารถประยุกต์ในการผลิตอวัยวะเทียมได้
สนใจเรื่อง 3D Printing ลองอ่านในนี้ดูก่อนได้จ้า
- Put to other uses นำไปใช้กับสิ่งอื่น เช่น คลิปหนีบกระดาษ นอกจากหนีบกระดาษแล้ว ยังทำเป็นงานศิลปะ ประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ หรือถ้าเราไปร้านค่ายมือถือ จะเห็นเขามีคลิปหนีบกระดาษที่ง้างกันมาแล้ว ไว้เสียบมือถือเพื่อเปลี่ยนซิมนี่แหละ, โดรน เอาไปใช้ในหลายๆอย่าง เช่น การเกษตร การทำข่าว การแข่งกีฬาต่างๆ
- Eliminate การกำจัดหรือการย่อส่วน เช่น สาเหตุที่โดนัทไม่มีรูตรงกลางก็เพราะว่า ทอดแล้วมันไม่สุก เลยต้องตัดออก, พัดลมที่ไม่มีใบพัด, URL Shortener ทำให้ url ของเว็บไซต์สั้นลง
- Reverse การย้อนกลับ เช่น Flipped Classroom ก็คือให้นักเรียนไปเรียนที่บ้าน โดยการดูคลิปสอนต่างๆ แล้วก็มาทำการบ้าน ทำแบบฝึกหัด และกิจกรรมประกอบการเรียนต่างๆด้วยกัน
แบบฝึกหัดการทำ SCAMPER
หยิบสมุดบันทึกกับปากกาดินสอขึ้นมา และหยิบสิ่งรอบตัวมาอย่างนึง และใช้หลักการของ SCAMPER ในการหาไอเดียใหม่ๆเกี่ยวกับสิ่งนั้น และเราก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงาน ธุรกิจของตัวเองได้ด้วยเนอะ
จริงๆทางเรามีไอเดียที่คิดไว้แต่ยังไม่ได้ทำ
- ทำแอพอัดเสียงที่สามารถใส่เสียงอื่นๆลงไปด้วย เพราะซื้อ Mixer มันแพง
- รายการซื้อของในบ้าน
บทที่ 7 การลงมือทำ
คุณสมบัติข้อที่ห้า และข้อสุดท้ายในการเป็นนวัตกร ในบทนี้จะแบ่งเป็น 3 ตอนย่อยๆ คือ
ต้นแบบทดลอง
หลักการของต้นแบบทดลองนั้นได้ถูกนำเสนอโดย Alberto Savoia ซึ่งเคยทำงานที่ Google มาก่อน เขาได้บอกว่า
ไอเดียใหม่ๆ ส่วนใหญ่มักจะล้มเหลว เพราะฉะนั้นเวลาที่เรามีไอเดียอะไรแล้วเนี่ย ก็ไม่ได้รับประกันว่าไอเดียนั้นจะประสบความสำเร็จเสมอไป
การทำต้นแบบทดลอง มีคอนเซปสำคัญคือ Build the right it before build it right แปลว่าให้เราแน่ใจซะก่อนว่าสร้างสิ่งที่ใช่ คือสร้างสิ่งที่ user เขาต้องการใช้จริงๆ
โดยคำว่า Pretotype มาจากคำว่า Pre มาจากคำว่า Pretend ที่แปลว่าสมมุตินะ ส่วน Protype ก็คือ Prototype ที่แปลว่าต้นแบบนั้นเอง ก็คือเป็นต้นแบบสมมุตินั่นเอง
คุณสมบัติของ Pretotype คือ เราสามารถสร้างมันแบบง่ายๆ ไม่ต้องยุ่งยาก เสียค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุด และสามารถเอาไปให้ user ทดลองใช้ว่าตอบโจทย์หรือไม่ เก็บข้อมูลกับ user ด้วยเพื่อเอาไปพัฒนาต่อ
ตัวอย่างของต้นแบบทดลอง
- พินอคคิโอ ต้นแบบทดลองที่เลียนแบบของจริงขึ้นมา
- เติร์กจักรกล มีที่มามาจากหุ่นที่เล่นหมากรุก ที่มีคนชักใยหุ่นอยู่ข้างหลังนั่นเอง คือสร้างตัวต้นแบบที่เทคโนโลยีจริงๆ อาจจะทำไม่ได้ แต่เราให้มนุษย์มาทำงานแทนให้
- Fake Door หรือประตูหลอก เช่น การเปิด pre order ซึ่งจะเป็นราคาพิเศษ เพราะต้องสั่งทำล่วงหน้า ทำให้เราสามารถประเมินได้ว่าคนต้องการสินค้าชิ้นนี้เท่าไหร่
การนำไปใช้จริง
- การทำสไลด์ ก่อนที่เราจะนั่งทำสไลด์จริงๆ อาจจะจดไว้ในกระดาษก่อน โดยเขียนลง post-it ขึ้นมาก่อน และแปะเข้ากระดาษ เป็นหลักการของ Storyboard นั้นเอง
- การสร้างแอพพลิเคชั่น อันนี้เล่าจากส่วนตัว เนื่องจากการทำ Native Application ต้องมีทั้ง iOS Developer หรือ Android Developer หรือการทำ Cross Platform อย่าง Flutter ก็ต้องใช้เวลาและแรงงานในการทำเช่นกัน อาจจะลองเขียนหน้าจอต่างๆของแอพบนกระดาษก่อน หรือไอเดียนี้แอพพลิเคชั่นบนมือถืออาจะไม่เหมาะ อาจจะเป็น website หรือ chatbot แทน และไปๆมาๆอาจจะเหลือแค่ Facebook Page ก็ได้ เดี๊ยวววววว เอ้ยยย บางเคสอาจจะ proof ด้วย Facebook Page ก่อนได้นะเออแล้วค่อยเอาไปทำ product จริงๆ
เพิ่มเติมนิดนึง นอกจาก prototype แบบกระดาษ ซึ่งก็มีหลายแอพช่วยทำเวลาให้ user ลองกดจริงแล้ว ยังมีการใช้พวกโปรแกรมที่ทำสไลด์ต่างๆมาทำ prototype แอพพลิเคชั่นของเรา รวมไปถึง chatbot ได้ด้วย ลองอ่านดูกันจ้า
ภารกิจ “สิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน”
ท่านศาสดา สตีฟ จอบส์เคยกล่าวไว้ว่า
ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากการเชื่อมโยง
และก็เหตุผลที่คนที่เขามีความคิดสร้างสรรค์ เพราะว่าเขามีประสบการณ์มากกว่าคนอื่น และก็ได้สังเคราะห์หรือรวบรวมประสบการณ์นั้น จนทำให้เกิดไอเดียแปลกใหม่เข้าด้วยกัน
ภารกิจทั้งหมด
- การไปชมภาพยนตร์ ลองไปดูหนังคนเดียว จะได้ประสบการณ์แปลกใหม่ ซึ่งเราเองเคยลองครั้งนึง คนเต็มโรง และมีคนข้างๆเขาก็มาคนเดียวเหมือนกันเลย ฮ่าๆ ส่วนตัวในช่วงที่เขียนบล็อกนี้เป็นช่วง New Normal แนะนำว่าให้ไถ Netflix ดูเอาแล้วกัน ฮ่าาาๆ หนังดีๆเยอะเลย
- ภารกิจนักชิม ไปลองร้านใหม่ๆ หรืออาหารที่ไม่เคยกินมาก่อน อย่างเราเพิ่มเคยลองอาหารอินเดีย เพราะพี่ในทีมอยากกิน เลยพบว่าโอโหววว เยอะกว่าที่คิด ราคาสูงแต่เยอะมากจ้า ข้าวเขาเป็นเม็ดยาวๆเลย มีเครื่องเทสที่แปลกกลิ่นนิดหน่อย แต่อร่อยดีน้าาา
- ภารกิจนักเรียน ไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อาจจะเป็นงานสัมมนาต่างๆ สายโปรแกรมเมอร์ก็เป็นงาน meetup เนอะ ที่เขาก็จัดแบบออนไลน์กันแล้ว หรือไปเรียนออนไลน์ต่างเว็บไซต์ต่างๆ เช่น MOOC ของมหาวิทยาลัยต่างๆ, Coursera, Udemy, Udacity ของ Google เองก็มีหลายเว็บไซต์เลย ถ้าของไทยจะมี Skooldio กับ Skilllane เนอะ บล็อกเราเองก็จะมีสรุปของพวกนี้เรื่อยๆเนอะ
- ภารกิจจิตอาสา เช่น ไปสอนเด็กๆในโรงเรียนที่ขาดแคลน ไปเป็นอาสาสมัครในงานต่างๆ เช่น TEDx Bangkok เคยสมัครแต่ไม่เคยได้เลย 55555555 ส่วนตัวเราเองไปเป็น Staff งาน Android Developer Meetup เพราะอยากเป็น staff งานพวกนี้อยู่แล้วและเขาขาดคนพอดี 55555 เป็นประสบการณ์ที่สนุกดี อีกอันที่อาจารย์ยกตัวอย่างก็คือการอ่านหนังสือเสียงให้กับผู้พิการทางสายตา
- ทำกิจกรรม DIY มากมายเลย เช่น ต่อเลโก้ พับกระดาษโอริงามิ ทำงานฝีมือต่างๆ ปลูกต้นไม้ วาดรูป ตอนช่วง work from home ก็ได้ซื้อแอพ Procreate มาลองวาดรูปต่างๆดู
- ภารกิจนักเขียน ให้ลองเขียนบล็อกขึ้นมา ลองรีวิวสินค้า เล่าประสบการณต่างๆ เขียนบทความแบ่งปันความรู้ ซึ่งเราเองก็เขียนโดยตลอดเนอะ อิอิ
- ภารกิจแสดงความสามารถ หรือถ่ายทอดความรู้ผ่านทางวิดีโอ อาจจะทำคลิปลง YouTube อาจจะเป็นสอนความรู้ต่างๆ สอนทำอาหาร เต้น Cover ร้องเพลง แต่เราก็นึกถึง Tiktok นะ น่าจะง่ายกว่า YouTube นะ ฮ่าๆ เราลองทำ podcast แล้วพบว่ายากกว่าเขียนบล็อกเยอะเลย
- อันนี้ให้เราคิดเองว่าจะทำอะไร ให้เลือกสิ่งที่เราอยากทำมานานแล้วแต่ยังไม่ได้ทำ ทางเราน่าจะมีลองไลฟ์วาดรูปหรือไลฟ์เล่นเกมส์ โดยสตรีมผ่าน Omlet Arcade ไปที่หน้า Facebook แล้วก็จะทำเว็บ portfolio ใหม่โดยใช้หลัก Material Design ด้วย
ในการทำภารกิจต่างๆให้จดบันทึกว่าอันไหน ชอบ ไม่ชอบ ได้เรียนรู้อะไรบ้าง ซึ่งเราก็ได้ลองทำหลายๆอย่างและเขียนลงบล็อกไปบ้างแล้วเนอะ
การสร้างนิสัยใหม่อย่างต่อเนื่อง
กฎ 3 ข้อของการสร้างนิสัยใหม่
- Single เลือกสร้างนิสัยใหม่ โดยให้เลือกเพียงอย่างเดียว อย่าทำหลายอย่างพร้อมกัน
- Simple สร้างนิสัยใหม่อย่างเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน
- Small เริ่มต้นแบบน้อยๆ ค่อยเป็นค่อยไป ให้เน้นที่ความถี่ คือให้ทำบ่อยๆติดต่อกันให้เป็นนิสัย
เช่น ช่วงนึงเราเรียน Javascript อย่างเดียวเลยงี้ 21 วัน จนสามารถเขียนบล็อกทบทวนได้ 3 ตอนเลยทีเดียว
บทที่ 8 แหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม
เว็บไชต์ต่างๆที่น่าสนใจ
- TED TALK ซึ่ง TED ย่อมาจาก Technology Entertainment Design ก็จะเป็นการ talk ของคนมีชื่อเสียงต่างๆ แล้วก็จะมีเว็บไซต์เพื่อให้เราสามารถชมย้อนหลังได้เนอะ ทั้งในเว็บและใน YouTube
ในไทยเราเองก็มีเช่นกัน ถ้าอยากทราบเพิ่มเติมเกี่ยวกับ TEDx Bangkok ลองอ่านบล็อกงาน CTC2018 ที่เราได้ฟัง session ที่เขามาพูดด้วยหล่ะ
- เว็บไชต์ที่รวมวิธีการประดิษฐ์และสร้างสรรค์ผลงานต่างๆขึ้นมา โดยเขาใช้หลักการของ SCAMPER นั่นแหละ
- Medium เราจะเห็นสาย programmer/developer เขียน content ในนี้กันมากมายเลย และการใช้งานในการเขียนบล็อกก็ใช้ง่ายสุดๆ
ทางเราเองก็มี medium เช่นกันจ้า
และ publishion ที่เราเขียนลงก็จะมีอันนี้แหละ ขายของหน่อย อิอิ ร่วมกันเพื่อนพี่น้องชาว Android Developer จ้า
ทบทวนก่อนจากกันไป
- คุณสมบัติในการเป็นนวัตกร มีการจดบันทึก การตั้งคำถาม การสังเกต การหาไอเดียใหม่และการลงมือทำ
- เรื่องของการทำต้นแบบทดลอง เรื่องของภารกิจที่ไม่เคยทำมาก่อน และการสร้างนิสัยไปอย่างต่อเนื่อง
แน่นอนว่าเรียนจบแล้วได้ Certificate ตามระเบียบเนอะ
ก็จบกันไปแล้วสำหรับคอร์สการปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์เนอะ บล็อกคราวหน้าจะเป็นอะไร มาติดตามกันจ้า