แนะนำหลักสูตรการจัดการนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการ และวิธีการสมัคร
หลังจากที่เราอัพบล็อกเขียนแอปของตัวเองโดยการเรียนคอร์สออนไลน์ของพี่เนยแล้ว เรายังเรียนอีกอย่างนึง คือ หลักสูตรการศึกษาทางไกล การจัดการนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการ (Innovation Management for Execution : IMEs) เป็นหลักสูตรความร่วมมือของสถาบันการศึกษาทางไกล และสถาบันนวัตกรรมกรรมแห่งชาติ เราเรียนเพื่อต่อยอดความรู้จากการไปแข่งขันเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยีปี 4 มาสร้างธุรกิจนวัตกรรมของตัวเอง ซึ่งเราเองตั้งใจเขียนตอนเรียนจบหลักสูตร แต่ด้วยว่ามีกิจกรรมอื่นๆที่จะต้องพบปะกัน และมีผู้สนใจเรียนหลักสูตรนี้ จึงเขียนบันทึกไว้ก่อน ไม่งั้นมีลืมคะ แหะๆ ^^
หลักสูตรนี้เหมาะกับใคร
คนที่มีธุรกิจของตัวเอง (ภาษาทางการคือผู้ประกอบการ) และอยากได้ความรู้เพิ่มเติม
คนธรรมดาที่สนใจในการสร้างธุรกิจนวัตกรรม หรือนำไปพัฒนาองค์กร (ภาษาทางการคือผู้สนใจ)
อยากเรียน สมัครยังไง
ก่อนอื่น ติดตามข่าวสารที่เพจสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ มีรับสมัครปีละสองรอบ (ปีละ 2 รุ่นนั่นแหละ) คือช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และพฤศจิกายน-ธันวาคม ซึ่งสามารถเข้าไปสมัครได้ที่ www.nia.or.th/ims/dei เพื่อเข้าไปกรอกข้อมูลการสมัครให้เรียบร้อยคะ
จากนั้นไปติดต่อสถาบันการศึกษาทางไกลผ่านอีเมลล์ [email protected] โดยแนบไฟล์ดังต่อไปนี้
1. หลักฐานการชำระค่าเรียน จำนวน 2,500 บาท ซึ่งเขาจะมีแบบฟอร์มให้จ่ายที่ธนาคารกรุงไทย โดยเสียค่าธรรมเนียมประมาณ 10 บาท (หาที่เว็บสถาบันการศึกษาทางไกลได้เลยคะ) หรือถ้าจ่ายทางธนาณัติให้ส่งตัวจริงมาที่สถาบันทางไกลคะ
2. สำเนาบัตรประชาชน
3. ไฟล์รูปถ่าย เพื่อนำไปทำบัตรนักศึกษา
เมื่อเราส่งเมลล์แนบไฟล์พวกนี้เรียบร้อยแล้ว เขาจะส่งเอกสารการเรียนมาให้ที่บ้าน และหลังรับวันสมัคร จะมีอีเมลล์แจ้งปฎิทินการเรียน อาจารย์ที่ปรึกษา และส่งมาที่บ้านด้วย พร้อมบัตรนักศึกษา
เรามารีวิวในกล่องพัสดุที่ส่งเอกสารการเรียนมา เราต้องตรวจสอบตามเอกสารที่ให้มาให้ครบ ดังนี้
1. ใบเสร็จรับเงิน ที่เราจ่ายเงินค่าเรียนนั่นแหละ
2. ถุงผ้า แต่ละคนได้สีไม่เหมือนกันนะ (มีคนได้สีเขียว เราได้สีส้ม)
3. ซีดีปฐมนิเทศหลักสูตร เราเป็นนักศึกษาอีกครั้งนะตัวเธอ
4. ซีดีพระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย พร้อมแผ่นพับ เป็นเอกสารเสริมการเรียนรู้
5. หนังสือสุดยอดนวัตกรรมไทยเล่มที่ 9 เป็นเอกสารเสริมการเรียนรู้
6. หนังสือนวัตกรรม...คนไทยทำได้
7. ใบปลิวโครงการคูปองนวัตกรรม
8. สมุดคู่มือเพื่อสร้างธุรกิจนวัตกรรม เป็นเอกสารเสริมการเรียนรู้
9. หนังสือการจัดการนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการ เป็นหนังสือที่มีบทเรียนทั้งหมด 8 บทด้วยกัน
10. คู่มือการเรียนทางไกล และแบบบันทึกกิจกรรมการเรียนรู้ เหมือนเป็นทั้งการบ้าน ทั้ง short-note ด้วย ซึ่งเล่มนี้ต้องส่งก่อนจบหลักสูตร ไม่งั้นไม่ผ่านนะ
เราเรียนอะไรกันบ้าง เรียงตามบทเลยเนอะ
1. นวัตกรรมและการจัดการนวัตกรรม
2. นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์และกระบวนการ
3. แนวทางการพัฒนานวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์
4. นวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์
5. ทรัพย์สินทางปัญญาและการอนุญาติใช้สิทธิทางเทคโนโลยี
6. การลงทุนในธุรกิจนวัตกรรม
7. การจัดการทรัพยากรมนุษย์และองค์กรนวัตกรรม
8. การบริหารจัดการระบบนวัตกรรมในประเทศไทย
การประเมินเพื่อผ่านหลักสูตร หลักๆมี 3 ส่วน ซึ่งต้องผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60 ขึ้นไป และอีกหนึ่งส่วนคือการร่วมกิจกรรมคะ
1. สอบวัดความรู้ เป็นปรนัย ใช้เวลา 60 นาที คิดเป็น 30 คะแนน
2. แบบบันทึกกิจกรรม (เล่มในข้อ 10 นั่นแหละ) คิดเป็น 40 คะแนน
3. ข้อเสนอโครงการ หรือ proposal คิดเป็น 30 คะแนน
การเข้าสอบและเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนา ถ้าใครไม่สะดวกเลื่อนได้ครั้งเดียวคะ แต่อย่าเลื่อนเลยเนอะ ^^"
การรักษาสภาพนักศึกษา ในกรณีที่ไม่สะดวกมาสอบ คือส่งงานให้ครบตามกำหนด และมาสัมมนาพร้อมกับรุ่นน้อง
ถ้าผ่านหลักสูตรแล้วได้อะไร
- ได้วุฒิบัตรรับรองความรู้
- ได้รู้จักเพื่อนร่วมรุ่นและรุ่นพี่ สร้าง connection ซึ่งในรุ่น 14 นี้ โครงการมีการปรับเปลี่ยนการสื่อสารโดยใช้ social network มากขึ้น คือมีกรุ๊ปไลน์สำหรับรวมรุ่นนั่นเอง (กรุ๊ป facebook มีในรุ่น 13 คะ)
- และอื่นๆ เดี๋ยวจะมาบอกหลังจบเนอะ
คำเตือน เนื่องจากเป็นการเรียนทางไกล สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการบริหารจัดการเวลาของตัวเอง บางท่านที่ทำธุรกิจส่วนตัวอาจจะมีเวลามากหน่อย เราทำงานประจำ ถึงจะเข้าออกงานเป็น flexible time แต่ถึงบ้านก็ดึกเหมือนกัน (บ้านไกลที่ทำงานคะ) และยังเรียนเขียน Android development ทางออนไลน์ด้วย ถึงเขาจะไม่ fix เวลาให้เรียนเหมือนสมัยเรียน แค่เรื่องเวลาเขาลงตารางให้เรา และเราต้องทยอยเรียนตามนั้น อย่าไปเร่งตอนท้ายเพราะอาจจะทำการบ้านไม่ทัน
ปล. ด้วยความที่ต้องส่ง proposal เลยไป workshop ของ NIA ซะเลย มีคนเรียนรุ่นเดียวกันมาด้วยนะเออ
อ่านอันนี้จบ อ่านอะไรต่อ ตามนี้เลยยยยยยย
กิจกรรมของ NIA-DEL SOCIETY มีทั้งเชิญวิทยากรจากข้างนอก และรุ่นพี่ในรุ่นมาแบ่งปันความรู้ให้น้องๆ